ที่ประชุมร่วมกันของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาได้มีความเห็นร่วมกันในการตั้งฉายาของรัฐสภา เพื่อเป็นการเป็นการสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีข้อสรุปดังนี้
1. สภาผู้แทนราษฎร : ปลวกจมปลัก
ปลวกเป็นสัตว์ที่มีการแบ่งงานกันทำเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด สำหรับสภาผู้แทนราษฎรแล้วมีส.ส.ที่ทำงานดุจปลวกที่ทำเพื่อความอยู่รอดของตัวเองด้วยการใช้สภาเป็นเครื่องมือเพื่อชิงอำนาจและทำลายล้างฝั่งตรงข้าม ยิ่งนานวันก็จมปลักกลับการทำงานแบบเดิม ไม่ใช้สภาเพื่อประโยชน์ในการระดมสมองและแก้ปัญหาให้กับประชาชน หนำซ้ำตลอดปีมานี้การประชุมสภาฯล่มกลางคันหลายครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าส.ส.ชุดนี้ไม่ให้ความสำคัญกับการประชุมสภาฯทั้งที่เป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ ส.ส.ในฐานะคนทำงานจึงเปรียบเป็นปลวกที่จมปลักไม่พัฒนาและจะยิ่งกัดกินหลักการของประชาธิปไตยให้พุกร่อนเข้าไปทุกที
2. วุฒิสภา : สภาปรสิต
ในทางวิทยาศาสตร์มีคำอธิบายถึง 'ปรสิต' ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยผู้อื่นหรือเซลล์ชนิดอื่นเป็นที่พักอาศัยและแหล่งอาหาร และบางครั้งทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ใช้ประโยชน์นั้นหรือเซลล์ภายในจนเจ็บป่วยหรือถึงกับเสียชีวิต เมื่อกลับมามองในมิติทางการเมืองแล้วจะพบว่าวุฒิสภาชุดนี้ก็มีสภาพไม่ต่างปรสิตที่อาศัยอยู่ในรัฐสภา นอกจากไม่มีผลงานที่เห็นด้วยตาเปล่าเหมือนปรสิตแล้วยังนำมาซึ่งพิษภัยแก่การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย โดยเฉพาะการพยายามใช้เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างเพื่อชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดการตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาพิจารณาก่อนรับหลักการไปจนถึงการลงชื่อเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ฉายา 'ปรสิต' จึงเหมาะกับวุฒิสภาชุดนี้
3. 'ชวน หลีกภัย' ประธานสภาผู้แทนราษฎร: ครูใหญ่ไม้เรียวหัก
ทุกครั้งที่ 'ชวน หลีกภัย' ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุมสภาไม่เคยถูกกังขาถึงความเป็นกลางแม้แต่ครั้งเดียว และตลอดปีที่ผ่านมาก็ยังยึดแนวทางดังกล่าวไว้ได้อย่างมั่นคง นอกเหนือไปจากการพยายามควบคุมการประชุมสภาแล้ว ประธานสภายังสวมบท 'ครูใหญ่' ที่ถือไม้เรียวคอยกวดขันวินัยของส.ส.ที่หย่อนยานอีกด้วย เช่น การตักเตือนส.ส.ให้สวมหน้ากากในห้องประชุมสภา เพื่อคุมการระบาดของโควิด 19 หรือการขอความร่วมมือส.ส.ให้ความสำคัญกับการประชุมสภา เป็นต้น แต่ปรากฎว่าส.ส.การ์ดตกทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการละเลยการสวมหน้ากากอนามัย หรือแม้แต่อเรื่องเล็กๆอย่างขอความร่วมมือส.ส.งดนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามารับประทานในห้องประชุมก็ไม่เป็นผล และที่ร้ายแรงที่สุด คือ เหตุการณ์สภาล่ม ซึ่งเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าต่อให้ประธานสภาจะยึดมั่นหลักการแค่ไหน แต่ก็ไม่อาจสร้างเปลี่ยนแปลงได้เพราะส.ส.ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ เหมือนกับครูใหญ่ที่มีไม้เรียวและต่อให้ฟาดแรงจนไม้เรียวหักคามือ ส.ส.ก็ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวแต่อย่างใด
4. 'พรเพชร วิชิตชลชัย' ประธานวุฒิสภา: "หัวตอ รอออเดอร์"
ถ้าเทียบบารมีทางการเมืองระหว่างเมื่อครั้งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับประธานวุฒิสภา ถือว่านับตั้งแต่มาเป็นประมุขสภาสูงบารมีของ 'พรเพชร' ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งตอกย้ำด้วยทุกครั้งที่ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในฐานะรองประธานรัฐสภา พบว่าไม่สามารถควบคุมการประชุมให้เป็นที่เรียบร้อยได้เมื่อเทียบกับ 'ชวน หลีกภัย' หลายครั้งที่รับมือกับความเขี้ยวทางการเมืองของส.ส.ฝ่ายค้านไม่ไหว ทำให้การประชุมเกิดความปั่นป่วนเป็นระยะ กลายเป็นหัวหลักหัวตอที่สมาชิกรัฐสภาไม่ค่อยให้ความยำเกรง ไม่เพียงเท่านี้ การทำหน้าที่ของประธานวุฒิสภายังไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองเพราะหลายเรื่องในวุฒิสภากลับปล่อยให้ส.ว.เป็นผู้ชี้นำประธานวุฒิสภาแทน ภาพรวมแบบนี้ทำให้ประธานวุฒิสภาเสมือนหัวหลักหัวตอที่ไม่มีใครสนใจแต่มีหน้าที่แค่รับคำสั่งทำงานเท่านั้น
5. สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร : สุทิน คลังแสง?
ก่อนอื่นต้องบอกว่าฉายาของผู้นำฝ่ายค้านฯที่ปรากฎออกมานั้นเป็นฉายาที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งขึ้นมาจริงๆ ไม่ได้เขียนผิดแต่อย่างใด เนื่องจากต่างเห็นตรงกันว่าบทบาทการเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯนั้น 'สมพงษ์' ไม่ได้โดดเด่นสมกับตำแหน่งเท่าใดนัก ตรงกันข้ามกลับเป็น 'สุทิน คลังแสง' ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ได้อย่างโดดเด่น หลายต่อหลายครั้งเป็นตัวแทนของฝ่ายค้านไปร่วมประชุมกับฝ่ายรัฐบาลจนทำให้ฝ่ายค้านได้เวลาอภิปรายในสภาอย่างสมน้ำสมเนื้อและสามารถชี้นำสภาในที่ประชุมได้ ผิดกับผู้นำฝ่ายค้านฯตัวจริงที่ยังไม่ทำงานเชิงรุกมากนัก ด้วยเหตุนี้ทำให้อดไม่ได้ว่า 'สุทิน คลังแสง' คือ ผู้นำฝ่ายค้าน ไม่ใช่ 'สมพงษ์ อมรวิวัฒน์'
6. ดาวเด่นแห่งปี : สุทิน คลังแสง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2563 ตลอดทั้งปี 'สุทิน คลังแสง' ในฐานประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ได้อย่างท็อปฟอร์ม หลายครั้งที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรื่องสำคัญและส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนไม่น้อยที่อภิปรายนอกประเด็นไปไกลและใช้แต่วาทะศิลป์ในการโจมตี แต่ทุกอย่างก็กลับเข้ารูปเข้ารอยเมื่อ 'สุทิน' ได้ขึ้นอภิปรายสรุปประเด็น การอภิปรายสรุปของประธานวิปฝ่ายค้านไม่ใช่แค่การอภิปรายสรุปเพื่อให้จบตามหน้าที่เท่านั้น เพรายังหยิบจับประเด็นสำคัญบางเรืองที่ส.ส.ฝ่ายค้านอาจไม่ได้พูดถึงหรือพูดถึงแต่ยังไม่มีความชัดเจน มาขยายความเพื่อให้สภาได้ข้อเท็จจริงเพิ่มมากขึ้น ตำแหน่งดาวสภาประจำปี 2563 จึงตกเป็นของ 'สุทิน คลังแสง' ไปอย่างเอกฉันท์
7. ดาวดับแห่งปี : วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย
การตัดสินตำแหน่งดาวดับแห่งปีในครั้งนี้ถือว่ามีความลำบากเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีข้อเสนอควรให้ 'มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ สมควรได้รับตำแหน่งนี้ด้วยเช่นกัน ภายหลังมงคลกิตติ์แสดงจุดยืนทางการเมืองที่กลับไปกลับมา นึกอยากจะร่วมรัฐบาลก็ประกาศสนับสนุน แต่วันใดไม่อยากสนับสนุนก็ประกาศขอเป็นฝ่ายค้านอิสระ ซึ่งอาจบอกว่าเป็นส.ส.ไร้จุดยืนก็คงไม่ผิดนัก แต่ถึงที่สุดแล้วสื่อมวลชนรัฐสภามีความเห็นว่าควรให้ตำแหน่งดาวดับเพียงคนเดียว และตำแหน่งนั้นเป็นของ 'วิสาร เตชะธีราวัฒน์' ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ใช้มีดปลอกผลไม้กรีดแขนกลางที่ประชุมสภา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาทางกาเมือง ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพราะเป็นการชี้นำให้ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังเป็นส.ส.หลายสมัยและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาก่อนที่สมควรเป็นแบบอย่างที่ดี แต่กลับแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อหวังผลทางการเมือง จึงหวังว่าตำแหน่งดาวดับที่สื่อมวลชนมอบให้จะทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก
8. คู่กัดแห่งปี : 'สิระ เจนจาคะ' และ 'มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์'
เกือบได้เห็นการวางมวยกลางสภา ภายหลังปฐมบทแห่งความเดือดมาจากกรณีที่ 'มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์' ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยศรีวิไลย์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเพราะไม่สามารถควบคุมความสงบได้ ต่อมา 'สิระ เจนจาคะ' ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวตอบโต้ว่า "การออกมาเรียกร้องเช่นนี้ต้องการผลประโยชน์อะไรหรือไม่ หรือเงินหมด เพราะบริจาคเงินเดือนส.ส.ให้ในสถานการณ์โควิดไปแล้ว ซึ่งหากเงินหมดจริงติดต่อผมได้" เรื่องไม่ได้จบแค่นั้นเพราะ 'มงคลลกิตติ์' โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กระบุว่า "เจอสิระที่ไหนจะเอาให้ฟันร่วงหมดปาก" และในที่สุดทั้งสองคนก็ได้เจอหน้ากันจริง โดยเป็นเหตุการณ์ระหว่างที่ 'มงคลกิตติ์' กำลังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวบริเวณรัฐสภา และได้พบกับ 'สิระ' ทำให้เดินเข้าไปจับแขนสิระแต่สิระสะบัดออก ปรากฎว่า 'มงคลกิตติ์' พยายามเดินตามแต่สิระเดินหนี ที่สุดแล้วต้องถึงมือ 'ชวน หลีกภัย' ที่ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ปรามทั้งสองฝ่ายว่าต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของสภาด้วย
9. เหตุการณ์แห่งปี : การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยากที่สุด โดยเฉพาะการต้องมีเสียงส.ว.สนับสนุนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นผลให้การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดือนก.ย.ไม่สามารถลงมติได้ แต่กลับต้องมาตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ และเมื่อกลับมาประชุมรัฐสภาอีกครั้งในเดือนพ.ย. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนนำโดยกลุ่มไอลอว์ได้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนครั้งแรก การประชุมรัฐสภาเวลานั้นไม่ได้เข้มข้นเฉพาะในสภาเท่านั้น แต่นอกสภาก็เดือดไม่แพ้กัน ภายหลังกลุ่มสนับสนุนและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา และเกิดการปะทะกันเป็นระยะ อีกด้านหนึ่งตำรวจใช้น้ำผสมสารเคมีควบคุมการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร จนกระทั่งที่สุดแล้วเหตุการณ์นอกสภาสงบลงพร้อมด้วยการลงมติของรัฐสภาที่ไม่เห็นด้วยกับการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขต่อไป ด้วยเหตุนี้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาจึงเป็นเหตุการณ์แห่งปีไปอย่างไม่ต้องสงสัย
10. วาทะแห่งปี : "มันคือแป้ง"
"สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดของรัฐนิวเซาท์เวลส์ อ้างว่าเป็นเฮโรอีน 3.2กิโลกรัม มันคือแป้ง" เป็นการชี้แจงของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 27 ก.พ. เวลานั้นร.อ.ธรรมนัส ถูกกังขาถึงความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งว่ามีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนนำมาสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่าการดำรงตำแหน่งของตนเองถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ อย่างไรก็ตาม ร.อ.ธรรมนัส กลับเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับความไว้วางใจจากสภาฯน้อยที่สุดเพียง 269 เสียง โดยที่ร.อ.ธรรมนัส ได้ลงคะแนนไว้วางใจตัวเอง จากเหตุการณ์นี้เองทำให้คะแนนความนิยมของรัฐบาลลดลงและสื่อต่างประเทศก็ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการจับกุมร.อ.ธรรมนัสในอดีตด้วย
11. คนดีศรีสภา : ยกเลิกตำแหน่งนี้ถาวร
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาไม่ได้มอบตำแหน่งคนดีศรีสภาให้กับสมาชิกรัฐสภา เนื่องจากท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ปรากฎว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนใดที่จะเป็นแบบตัวอย่างที่ดีในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น สื่อมวลชนประจำรัฐสภา จึงมีความเห็นร่วมกันว่าสมควรยกเลิกตำแหน่งนี้เป็นการถาวร จนกว่าในอนาคตจะมีสมาชิกรัฐสภาที่มีความประพฤติที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวต่อไป.
Cr. Vac Teerapong
Cr. ภาพข่าว The Standard
ความคิดเห็น