ภูเก็ตคลายมาตรการเข้าสู่เกาะสำหรับคนในประเทศ
เนื่องจากเริ่มมีการรายงานในสื่อสังคมออนไลน์หลายสื่อถึงผลการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตเมื่อ 8 ตค. 64 ที่ผ่านมาโดยมีวาระสำคัญวาระหนึ่งเพื่อพิจารณาปรับมาตรการคัดกรองคนในประเทศที่จะเดินทางเข้าสู่เกาะภูเก็ต
ผลการประชุมเห็นควรผ่อนคลายมาตรการเดิมที่ประกาศใช้ระหว่าง 1-15 ตค.64
โดยตั้งแต่วันที่ 16 ตค.64 เป็นต้นไป ผู้คนในประเทศไทยที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ประกาศ อาทิ
-SNV 2 เข็ม
-SNF 2 เข็ม
-AZ 2 เข็ม (จากเดิม 1 เข็ม)
-PFZ 2 เข็ม(จากเดิม 1 เข็ม)
-MDN 2 เข็ม(จากเดิม 1 เข็ม)
-JJ 1 เข็ม
-วัคซีนไชว้ SNV+AZ
สามารถเดินทางเข้าเกาะภูเก็ตได้เลยโดยไม่ต้องแสดงผลตรวจโควิด
รวมทั้งผู้ที่หายป่วยจากโควิด19 ภายใน 90 วัน (แต่เดิม 180 วัน)
ก็ไม่ต้องแสดงผลตรวจโควิด
*หากไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว*
ต้องแสดงผลตรวจRT-PCR หรือ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน
*ไม่อนุญาตให้นำชุดตรวจมาตรวจเองหน้าด่าน*
แต่ยังมีจุดบริการตรวจเสียเงินให้
ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากมีประกาศจังหวัดเป็นทางการต่อไป
ส่วนสาเหตุที่มีการปรับมาตรการครั้งนี้ ไปพ้องกับการเรียกร้องของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งจากความไม่สบายจมูกเพราะถูกตรวจถูกสวอปถูกแยงตั้งแต่ทุก 3 วัน จนถึงทุก 7 วัน การวิ่งหาสถานที่ที่จะตรวจซึ่งมีไม่กี่แห่งในช่วงแรกๆ และที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายการตรวจต่อครั้งที่เคยสูงถึง 450 บาท แม้จะลดลงมาถึง 120 - 180 บาทในระยะหลังก็ตาม รวมทั้งความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองทางตรงและทางอ้อมที่ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้เพื่อประโยชน์
แต่ที่อยากจะอธิบายให้เข้าใจก็คือ การพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้ไม่ใช่เกิดจากการกดดันของมวลชน กลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กระทั่งมิใช่เกิดจากการสั่งการของรัฐบาล แต่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริงที่จังหวัดได้ทำมาโดยต่อเนื่องเป็นระยะๆ
โดยในครั้งนี้ข้อมูลตัวเลขสำคัญๆคือ
1) ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่เริ่มลดลงเหลือ 160-180 รายต่อวันจากที่เคยสูงถึง 200-240 รายต่อวันในเดือนกันยายน
2) อัตราการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสามให้คนในเกาะภูเก็ตเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสาธารณะ (Public immunity) เกิน 200,000 คน และจะเข้าสู่เป้าหมาย 300,000คนในเดือนตุลาคมนี้
3) การเริ่มระดมฉีดวัคซีนในเด็กและเยาวชนอายุ 12-18 ปี ตั้งแต่ 8 ตค.จำนวน 12,000 คน และอีกเกือบ 20,000 คนในต้นเดือนพย.
4) อัตราการพบผู้ติดเชื้อที่ได้รับวัคซีนมาก่อนแล้วจากการตรวจ ATK ด้วยตัวเองและโดยผู้ให้บริการที่ด่านท่าฉัตรไชยในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาซึ่งพบว่ามีอัตราต่ำมาก 0.3%
5) ในขณะที่อัตราพบผู้ติดเชื้อในการคัดกรองเชิงรุกของชุมชนต่างๆในภูเก็ตที่ไม่ใช่ชุมชนแรงงานต่างด้าวอยู่ที่ 2-6% สูงกว่าที่พบที่ด่านท่าฉัตรไชยนับสิบเท่าตัว
ซึ่งจะได้อธิบายรายละเอียด สรุปการดำเนินมาตรการที่ผ่านมาของด่านท่าฉัตรไชยให้ทราบเพื่อให้คนภูเก็ตมีความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบัน และเตรียมตัวรับนักท่องเที่ยวชาวไทย นักธุรกิจ แรงงานที่คืนกลับมาทำงาน ที่จะเข้าสู่เกาะภูเก็ตมากขึ้นในช่วงไฮด์ซีซันนี้
ถือเป็นการเปิดเมืองอีกขั้นหนึ่ง
บันทึกโดย นายแพทย์สงวน คุณาพร
เมื่อ 9 ตค.64
ความคิดเห็น