ช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจต่างออกมาโอดครวญถึงต้นทุนการผลิตที่สูงจนกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับเสียงสมทบของภาคประชาชนที่บอกว่าค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอย่างผิดปกติ ทั้งที่พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเหมือนเดิม กลายเป็นกระแสพอๆ กับประเด็นข่าวการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ จนต้องยอมรับว่าความรู้สึกของทุกคนมองค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเป็นปัญหาหลักของประเทศในช่วงนี้ และต่างเปล่งเสียงไปยังผู้รับผิดชอบเพื่อถามหาแนวทางช่วยเหลือให้ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า วันนี้ค่าไฟฟ้าที่แพงเป็นปัญหาของทุกคนในประเทศไม่ใช่เฉพาะของธุรกิจเพียงอย่างเดียว หอการค้าฯ ร่วมกับ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้พยายามสื่อสารกับรัฐบาลถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องลดค่าไฟฟ้าลงในช่วงนี้ เพื่อให้ไม่เป็นปัญหาซ้ำเติมกับทุกภาคส่วนที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา วันนี้เห็นทิศทางที่ดีที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังติดล็อคกับปัญหาไฟฟ้าที่ทำให้ภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจท่องเที่ยวในกลุ่มของโรงแรมที่พัก ธุรกิจค้าปลีกอย่างห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ กำลังเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับช่วงนี้อากาศของไทยร้อนจัดหลายพื้นที่มีอุณหภูมิสูง ประชาชนเปิดเครื่องปรับอากาศและพัดลมช่วยคลายความร้อนจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าไฟฟ้าของไทยเป็นอัตราก้าวหน้าคือยิ่งใช้มากก็ต้องยิ่งจ่ายแพงมากขึ้น
ปัญหานี้ หอการค้าฯ และ กกร. ให้ความสำคัญมากและได้เคยมีหนังสือไปยังรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาแนวทางการปรับค่าไฟฟ้าให้ลดลง จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ได้มีมติเห็นชอบค่า Ft เป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77บาทต่อหน่วย ครั้งนั้น กกร. มีความเห็นควรพิจารณาทบทวนค่า Ft งวดที่ 2 เพื่อเป็นการลดภาระของภาคประชาชนในครัวเรือนและภาคธุรกิจ ทั้งข้อเสนอที่ให้มีการคงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. เป็นระยะ 3 ปี ตามงวด 1/2566 ข้อเสนอการพิจารณาใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วงเดือน พ.ค.- ส.ค. 66 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือน ม.ค.66 ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้า รวมถึงเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน
นายสนั่น กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทราบว่าปัจจุบันค่าไฟฟ้าในงวดที่ 2 (1 พฤษภาคม-31 สิงหาคม 2566) คณะกกพ. มีมติเห็นชอบให้ลดลงจาก 4.77 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย ถึงจะไม่ใช่ตัวเลขที่มากนักแต่เป็นแนวโน้มที่ดีต่อภาคเอกชนและประชาชน และแม้จะอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการก่อนการเลือกตั้ง แต่ภาคเอกชนอยากเห็นรัฐบาลกล้าตัดสินใจลดค่าไฟฟ้าทันที โดยไม่ได้มองว่าเป็นประเด็นที่จะใช้หาเสียงในช่วงเลือกตั้งหรือไม่ เพราะตอนนี้ถือเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันทั่วประเทศ และหากปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อไปจนถึงรัฐบาลชุดใหม่คงจะกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอย่างมหาศาล
ดังนั้น หากเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน พิจารณาปรึกษาหารือระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และตัวแทนภาคประชาชน โดยทุกฝ่ายร่วมกันพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศร่วมกันใหม่ ก่อนสรุปเป็นตัวเลขในการลดค่าไฟฟ้า ชี้แจงรายละเอียดและความจำเป็นให้ทุกคนได้รับทราบ เชื่อว่าทุกภาคส่วนจะยอมรับและช่วยบรรเทาความเดือนร้อนที่จะเกิดขึ้นได้ในระยะนี้ต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็คงต้องเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดถัดไปที่จะต้องสะสางปัญหาโครงสร้างค่าไฟฟ้าทั้งระบบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเช่นนี้ โดยเฉพาะความสามารถของผู้ประกอบการไทยที่ยังแข่งขันไม่ได้จากต้นทุนด้านพลังงานที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
#Thaichamber
#หอการค้าไทย
#สร้างความเชื่อมั่น
#ร่วมกันสร้างสรรค์
#ช่วยกันผลักดัน
#connectthedots
ความคิดเห็น