คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม 10 ปท. เยือนชายแดนใต้ รับทราบแนวทางการแก้ปัญหาสถานการณ์ความมั่นคง และ การพัฒนาพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม 10 ปท. เยือนชายแดนใต้ รับทราบแนวทางการแก้ปัญหาสถานการณ์ความมั่นคง และ การพัฒนาพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
วันนี้ (25 ก.ค.2566) คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม 10 ประเทศ เดินทางเยือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส หลัง ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือเชิญเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการทูตเชิงรุก และสร้างความเข้าใจ การรับรู้อันดีเกี่ยวกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แก่นานาชาติ โดยมีเอกอัครราชทูตจากประเทศมาเลเซีย คูเวต โอมาน อียิปต์ อินโดนีเซีย ตุรกี โมร็อกโก ซาอุดีอาระเบีย อุปทูตจากสถานเอกอัครราชทูตกาตาร์ และปากีสถาน เดินทางเยือน 3 จังหวัด เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 27 ก.ค.
สำหรับจุดแรก คณะได้เดินทางเยือนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เพื่อทำความเข้าใจการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนไทยนับถือศาสนาอิสลาม แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆภายในประเทศ โดยมีผู้บริหาร ศอ.บต. , กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า , สมช. และหัวหน้าส่วนราชการร่วมให้การต้อนรับ
โดย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้นำเสนอการพัฒนา 3 จังหวัด ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออก เป็น 3 ด้านหลักๆ คือ การยกระดับคุณภาพชีวิต การสร้างหลักประกันสังคมจิตวิทยาเพื่อสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และการสนับสนุนการแสวงหาทางออกโดยสันติวิธี ซึ่งมีเป้าหมายสุดสูงสุด เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถอยู่ร่วมกันได้ในวิถีสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โดยได้คำนึงพร้อมเน้นการพัฒนาอย่างเป็นธรรรม ไม่แบ่งแยก และเท่าเทียมในทุกศาสนา ที่ผ่านมามีการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเข้ารับการศึกษา อาทิ การแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กเล็กกว่า 46,000 คน ที่พบว่า มีภาวะเตี้ย แคระ เเกร็น เนื่องจากประชากรมีฐานะยากจน มีอาชีพและรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับรายจ่ายในการดำเนินชีวิต ซึ่ง ศอ.บต. ได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อกระจายรายได้ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ
เลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวตอนหนึ่งในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เพื่อทำความเข้าใจแก่ทูตมุสลิม 10 ประเทศว่า ศอ.บต ได้มีการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์ ความเชื่อ โดยไม่ปิดกั้นและไม่เลือกปฏิบัติ ให้ประชาชนได้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ทั้งประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม พุทธและชาวไทยเชื้อสายจีน ในส่วนการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน ศอ.บต. ได้อำนวยให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการของรัฐตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโดยเร็วที่สุด ในส่วนด้านการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ กรณีเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือทุพพลภาพ จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาทันที ที่เกิดเหตุ และดูแลอย่างต่อเนื่องตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านจิตใจและร่างกาย
ด้าน พลตรี ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ในส่วนของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า มีการปฏิบัติงานในมิติงานด้านความมั่นคง ได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และ “การพัฒนาตามภูมิสังคม” รวมทั้งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยกำหนดงานตามนโยบายสำคัญเร่งด่วน 5 งาน คือ งานการควบคุมพื้นที่และบังคับใช้กฎหมาย งานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด งานการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง งานการสร้างความเข้าใจ งานบูรณาการด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานควบคุมพื้นที่ กอ.รมน. เน้นการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยยึดหลักการบังคับใช้กฎหมายด้วยความโปร่งใส เสมอภาค และเป็นธรรม ภายใต้การรับรู้และมีส่วนร่วมของผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และเครือญาติ หากจำเป็นต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย จะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก คำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งหมายให้เกิดความสงบในสังคม และประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข
ขณะที่ นายนริน เวโรจน์วิวัฒน์ ผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่รัฐบาลทุกยุคสมัยให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม จำนวนเหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยสถานะล่าสุด ในห้วงเดือน ๑ ต.ค. 2565 – 30 มิ.ย. 2566 มีสถิติการก่อเหตุรุนแรง จำนวน 86 เหตุการณ์ สถิติผู้เสียชีวิต 33 ราย และบาดเจ็บ 110 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2560 พบว่า มีสถิติการก่อเหตุรุนแรงจำนวน 166 เหตุการณ์ ลดลง จำนวน 80 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 48 และมีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 69.44 สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ในภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ เป็นผลจากการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งให้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ได้รับการแก้ไขจนเกิดความสงบและสันติสุขอย่างยั่งยืน ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม
ความคิดเห็น